top of page

ทำไมต้องเลือกใช้สายไฟที่มีคุณภาพ?

เลือกซื้อสายไฟ ต้องดูอะไรบ้าง?

สายไฟที่ผ่านมาตรฐานสากล(International Standard) คืออะไร

ทำไมราคาสายไฟในท้องตลาดจึงต่างกัน?

ทำไมจึงควรเลือกใช้ตัวนำทองแดงความบริสุทธิ์ 99.99%

สายไฟฟ้ามีวันหมดอายุหรือไม่

สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร?

อันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร

สายไฟฟ้ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง

การเลือกใช้สายไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ขนาดแรงดันไฟฟ้าและขนาดตัวนำ ที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทยมีขนาดเท่าใด

ทำไมจึงไม่นิยมใช้สายตัวนำอะลูมิเนียมในบ้านหรืออาคาร?

ชื่อเรียกสายไฟฟ้าที่ช่างไฟนิยมใช้มีอะไรบ้าง

สายไฟอ่อนต่างกับสายไฟแข็งอย่างไร?

สายส่งกำลังไฟฟ้าแรงสูง

ลักษณะของสายไฟแต่ละชนิด

สายทนไฟ คืออะไร?

VCV คือ อะไร?

Skinned Insulation คืออะไร?

Milliken Conductor คืออะไร?

 

 


ทำไมต้องเลือกใช้สายไฟที่มีคุณภาพ?
ปัจจุบันไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นและอยู่รอบตัวเรา เราใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างมหาศาลลองจินตนาการนึกดูว่าถ้าเราไม่มีไฟฟ้าใช้สัก 1 วัน ชีวิตเราจะลำบากขนาดไหน อย่างไรก็ตามแม้ว่าไฟฟ้าจะให้ประโยชน์มากมายเพียงใด หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ใช้ด้วยความประมาท ก็จะทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินได้เช่นกัน การใช้ไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องของความปลอดภัย สายไฟที่เป็นทั้งตัวนำไฟฟ้าและสิ่งที่ปกป้องเราจากอันตรายจากไฟฟ้าจึงไม่ใช่อะไรก็ได้ เลือกใช้สายไฟที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของคุณจากอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน

 

 


เลือกซื้อสายไฟ ต้องดูอะไรบ้าง?
การเลือกซื้อสายไฟฟ้าจะดูเพียงแค่ ‘ราคา’ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะสายไฟเป็นเรื่องของความปลอดภัย อุบัติเหตุที่เกิดจาการชำรุดของสายไฟ อันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ สายไฟที่มีคุณภาพและความปลอดภัยควรมีลักษณะ 4 ข้อ ดังนี้

  • 1. ทองแดงที่ใช้ทำตัวนำต้องเป็นทองแดงแท้ ไม่มีสิ่งปลอมปนและไม่ใช้ทองแดงรีไซเคิล ตัวนำทองแดงที่มีความบริสุทธิ์ 99.99% คือ ทองแดงเกรดที่ดีที่สุดสำหรับผลิตสายไฟฟ้า เพราะนอกจากจะมีการนำไฟฟ้าที่ดีที่สุดแล้ว ยังช่วยเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานอีกด้วย

  • 2. ตัวนำทองแดง ไม่เปราะ ไม่หักง่าย เพราะทองแดงที่เปราะและหักง่ายเป็นสาเหตุหลักของไฟฟ้าลัดวงจร

  • 3. ต้องเป็นฉนวนเกรดพรีเมี่ยม มีความทนทาน ทนความร้อนได้ดี  เพราะ ฉนวนคือเกราะป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าสู่ผู้ใช้งาน หากใช้สายไฟที่ฉนวนไม่ได้คุณภาพ เราก็จะเสี่ยงอันตรายจากการถูกไฟดูด หรือ เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ได้

  • 4. เป็นสายไฟที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล เช่น BASEC, UL, KEMA และ SGS  ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก  

 

 

 

สายไฟที่ผ่านมาตรฐานสากล(International Standard) คืออะไร
         สายไฟฟ้าในประเทศไทยมีอยู่มากมายหลายยี่ห้อ ซึ่งทุกยี่ห้อจะอ้างอว่าสายไฟของตัวเองผ่านมาตรฐาน มอก. ซึ่งจริงๆแล้วมาตรฐาน มอก. เป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานของประเทศไทยที่สายไฟทุกยี่ห้อต้องผ่าน จึงจะสามารถผลิตออกมาจำหน่ายได้ ดังนั้นสายไฟในตลาดส่วนใหญ่จะผลิตเพียงเพื่อให้ผ่านมาตรฐานขั้นพื้นฐานนี้เท่านั้น แต่ผู้นำด้านการผลิตสายไฟฟ้าในประเทศไทยที่ผลิตสายไฟที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด จะได้ไม่ได้ผลิตสายไฟเพียงเพี่อให้เพียงผ่านมาตรฐานขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่จะคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อให้ผ่านมาตรฐานสากลเลยทีเดียว เพื่อให้สามารถส่งออกสายไฟออกไปจำหน่ายได้ทั่วโลก ดังนั้นสายไฟที่ได้รับมาตรฐานสากลจึงมีคุณภาพและความปลอดภัยสูงกว่าสายไฟทั่วไปตามท้องตลาด 
ตัวอย่างของ มาตรฐานระดับสากล เช่น

  • - British Approvals Service for Cables : BASEC คือ องค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศอังกฤษ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยขของสายไฟฟ้า เป็นมาตรฐานที่มอบให้กับผู้ผลิตสายไฟฟ้าโดยเฉพาะ

  • - UL คือ องค์กรอิสระระดับโลกที่ตรวจสอบความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มายาวนานกว่า 100 ปี ถือเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

  • - KEMA Laboratories : KEMA คือ ห้องแล็ปทดสอบสายไฟฟ้าที่ทันสมัยและมีมาตรฐานที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำหน้าที่ตรวจสอบสายไฟฟ้าครอบคลุมทุกเรื่อง เช่น สเปคของสายไฟ คุณภาพของสายไฟ ความปลอดภัยเมื่อนำไปใช้งานจริง ดังนั้นสายไฟที่ได้รับใบรับรองจาก KEMA จึงเป็นสายไฟที่รับการยอมรับจากทั่วโลก

  • - SGS คือ องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานด้านคุณภาพของ SGS นั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘บรรทัดฐานสากลระดับโลก’

ดังนั้นหากคุณเลือกใช้สายไฟที่ได้รับใบรับรองจากมาตรฐานสากล คุณก็สามารถวางใจได้เลยทั้งในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย เพราะคุณกำลังเลือกใช้สายไฟที่มีคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก

 

 

ทำไมราคาสายไฟในท้องตลาดจึงต่างกัน?
คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมราคาสายไฟในตลาดจึงแตกต่างกันทั้งๆเป็นสายไฟชนิดเดียวกัน ตัวนำทองแดงเหมือนกัน ฉนวนแบบเดียวกัน?? ต้นทุนของสายไฟกว่า 80% คือ ทองแดง ราคาในการรับซื้อทองแดงเพื่อนำมาใช้ในการผลิตสายไฟของแต่ละยี่ห้อก็คงไม่ห่างกันมาก แต่สาเหตุที่ทำให้ราคาสายไฟต่างกันเป็น เพราะ ผู้ผลิตบางรายเลือกที่จะลดต้นทุนสินค้า เพื่อที่จะให้ขายสายไฟได้ในราคาที่ถูกกว่าหรือหวังผลกำไรมากกว่า โดยการลดคุณภาพของทองแดง หรือ ไปเลือกใช้ทองแดงรีไซเคิล ซึ่งมีค่าการนำไฟฟ้าต่ำกว่าทองแดงบริสุทธิ์ หรือลดปริมาณตัวนำลงเพื่อให้ใช้ทองแดงน้อยลง ซึ่งส่งผลทำให้ตัวนำมีขนาดเล็ก เปราะและหักง่าย เกิดความร้อนสูงเมื่อนำไปใช้งาน ทำให้ฉนวนของสายไฟเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ และอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้นเวลาเลือกซื้อสายไฟอย่าเลือกเพียงเพราะราคาถูก ให้ดูที่คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยด้วย  ‘เราสามารถประหยัดได้ทุกเรื่อง แต่อย่าประหยัดเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัย’’

 

 

ทำไมจึงควรเลือกใช้ตัวนำทองแดงความบริสุทธิ์ 99.99% 
เพราะทองแดงบริสุทธิ์ 99.99% คือ ทองแดงเกรดที่ดีที่สุดสำหรับผลิตตัวนำสายไฟ เนื่องจากมีค่าการนำไฟฟ้าสูงที่สุด 
มีความยืดหยุ่น ไม่เปราะ ไม่หักง่าย และทนความร้อนได้ดีกว่า  เมื่อเปรียบเทียบกับตัวนำที่ทำจากทองแดงรีไซเคิล และทองแดงเกรดอื่นๆ 

 

 

สายไฟฟ้ามีวันหมดอายุหรือไม่ 
ฉนวนหรือเปลือกชั้นนอกที่ ใช้หุ้มสายไฟฟ้า ส่วนใหญ่ทำจากพีวีซีซึ่งมีความแข็งแรงและมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยปกติถ้าเราไม่ใช้กระแสไฟมากเกินกว่าขนาดของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ สายไฟที่ได้มาตรฐานจะมีอายุการใช้งานประมาณ 15-20 ปี แต่หากสายไฟต้องรับแรงกระแทก โดนแดด โดนฝน หรือโดนรังสียูวีต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ สายไฟจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 10 ปี ในกรณีเดินสายไฟแบบร้อยท่อก็จะสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของสายไฟได้นานถึง 30 ปีเลยทีเดียว การเลือกซื้อสายไฟจึงถือเป็นการลงทุนครั้งเดียวในระยะยาว เพราะคงไม่มีใครอยากเปลี่ยนสายไฟบ่อยๆ ดังนั้นเราควรเลือกซื้อสายไฟที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยตลอดอายุการใช้งาน

 

 

 

สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร?

  • ฉนวนไม่ได้คุณภาพ ทนความร้อนได้ไม่ดี ทำให้ฉนวนละลายหรือเสื่อมสภาพเร็ว จนเป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้

  • ตัวนำทำจากทองแดงรีไซเคิล หรือ ทองแดงไม่บริสุทธิ์ ทำให้ทองแดงสูญเสียความยืดหยุ่น จนทำให้ทองแดงเปราะและหักง่าย เป็นสาเหตุทำให้สายไฟชำรุด และ เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในที่สุด

  • เลือกใช้สายไฟไม่เหมาะกับปริมาณแรงดันไฟฟ้าที่ต้องใช้จริง

 

 

อันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร 
ในปัจจุบัน สาเหตุของหลักของการเกิดเพลิงไหม้ คือ ‘ไฟฟ้าลัดวงจร’ ซึ่งเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นจากการที่ฉนวนสายไฟเสื่อมสภาพ เมื่อสายไฟที่ไม่มีฉนวนหุ้มมาแตะกัน ทำให้เส้นลวดตัวนำในบริเวณนั้นสัมผัสกัน ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลในวงจรสั้นลง(ลัดวงจร) และเกิดความร้อนสะสม ณ จุดที่ตัวนำทั้งสองแตะกัน จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้ในที่สุด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เรามักจะมองไม่เห็นเพราะ สายไฟจะเดินบนฝ้าบ้าง ร้อยท่อบ้าง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เกิดเพลิงไหม้แล้ว
นอกจากนี้ถ้าเราไปสัมผัสกับจุดที่ฉนวนเสื่อมสถาพ จะทำให้กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านร่างกาย เป็นอันตรายถึงชีวิต 

 

 

สายไฟฟ้ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง 
    สายไฟฟ้ามีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ตัวนำ และ ฉนวน
1. ตัวนำ ทำจากโลหะที่มีค่าการนำไฟฟ้าสูง อาจอยู่ในรูปของ ตัวนำเดี่ยว (Solid) และ ตัวนำตีเกลียว (Stranded) ประกอบด้วยตัวนำเล็กๆพันเข้าด้วยกันเป็นเกลียว มีข้อดี คือ สามารถนำกระแสไฟฟ้าต่อพื้นที่ได้สูงขึ้น เนื่องจากผลของ skin effect ลดลง และเดินสายได้ง่ายเพราะมีความยืดหยุ่นกว่าตัวนำเดี่ยว โลหะที่นิยมใช้ ได้แก่ ทองแดง และ อลูมิเนียม โดยโลหะทั้งสองชนิดมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน
     1.1 ทองแดง เป็นโลหะที่มีค่านำไฟฟ้าสูงมาก แข็งแรง เหนียว ทนการกัดกร่อน แต่มีข้อเสีย คือ น้ำหนักมากและราคาสูง
     1.2 อลูมิเนียม มีค่านำไฟฟ้ารองจากทองแดง มีน้ำหนักเบาและราคาถูกกว่า จึงเหมาะสำหรับใช้งานในระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่ต้องเดินสายในระยะไกลบนเสาไฟฟ้าที่เราเห็นตามท้องถนน ข้อเสียทำปฎิกิริยากับออกไซด์ในอากาศได้ จึงต้องหุ้มด้วยฟิลม์ทำให้เชื่อมต่อได้ยากกว่า  
2. ฉนวน ทำหน้าที่ห่อหุ้มตัวนำ ป้องกันการสัมผัสกันระหว่างตัวนำกับตำวนำ ตัวนำกับพื้นดิน ตลอดจนป้องกันสารเคมีต่างๆ อีกทั้งยังช่วยถ่ายเทความร้อนออกจากตัวนำ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการทนความร้อนของสายไฟ และยังช่วยป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งเป็นอันตรายที่อาจทำให้ผู้ใช้งานถึงขั้นเสียชีวิต การเลือกใช้ชนิดของฉนวนขึ้นอยู่กับลักษณะงาน ปัจจัยด้านแรงดัน สภาพแวดล้อมในการติดตั้ง วัสดุที่นิยมใช้มากที่สุด คือ โพลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride: PVC) และ ครอส-ลิงค์ โพลีเอททีลีน (Cross-Linked Polyethylene: XLPE) 
         2.1 ฉนวน PVC ทนอุณหภูมิสูงสุดได้ 70 ํC มีความอ่อนตัว สามารถดัดโค้งงอได้ เป็นฉนวนที่นิยมใช้สำหรับเดินสายไฟฟ้าในอาคาร
         2.2 ฉนวน XLPE ทนอุณหภูมิสูงสุดได้ 90 ํC และมีความแข็ง ทนต่อแรงเสียดสีได้ดี เป็นฉนวนที่นิยมใช้ในระบบไฟฟ้าแรงสูง
3. โครงสร้างอื่นๆ นอกเหนือจากตัวนำและฉนวน คือ โครงสร้างที่ช่วยปกป้องฉนวนและตัวนำของสายไฟเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น
         - เปลือกนอก (Oversheath) ปกป้องฉนวนจากสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น แรงทางกล สารเคมีบางชนิด อุณหภูมิ ความชื้น
         - เลดชีท (Lead Sheath) ป้องกันความชื้นได้อย่างสมบูรณ์ ป้องกันแรงกระแทกทางกล และ ทนการกัดกร่อนของสารเคมีและน้ำมันได้ จึงเป็นโครงสร้างที่นิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมเคมี และ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
         - อาร์เมอร์ (Armour) ช่วยป้องกันแรงกระแทกทางกล เป็นโครงสร้างที่เหมาะสำหรับสายไฟใต้ดิน (Underground Cable)
         - ฟิลเลอร์ (Filler) เป็นโครงสร้างที่ใส่ในสายไฟ 3 แกน เพื่อให้สายไฟมีความกลมเหมือนเดิม เพราะถ้าไม่ใส่ฟิลเลอร์สายไฟ 3 แกน
จะมีลักษณะภายนอกเป็นสามเหลี่ยมแทน

 

 


การเลือกใช้สายไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน 
สายไฟฟ้า นั้นมีความสำคัญลำดับต้นๆ ในการสร้างอาคาร บ้านเรือน เพราะเป็นตัวนำไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดมาสู่ที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้นไม่ควรจะละเลยการเลือกใช้สายไฟฟ้าให้ถูกต้อง และถูกวิธี และถ้าคุณเป็นช่าง หรือผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วละก็ ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ สายไฟฟ้า ให้มากขึ้นอีกด้วย 
1. ใช้เฉพาะสายไฟฟ้าที่อย่างน้อยผ่านมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มีเครื่องหมาย มอก.) และเพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งาน ควรเลือกใช้สายไฟที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับด้วย 
2. สายไฟฟ้าทั่วไปเป็นชนิดที่ใช้เดินภายในอาคาร ห้ามนำไปใช้เดินนอกอาคาร เพราะ แสงแดดจะทำให้ฉนวนเสื่อมสภาพเร็ว สายไฟชนิดที่ใช้เดินนอกอาคารจะเติมสารป้องกันแสงแดดไว้ในเปลือกหรือฉนวนของสายไฟ สารป้องกันแสงแดดส่วนใหญ่ที่ใช้กันมากนั้นจะเป็นสีดำแต่อาจจะ เป็นสีอื่นก็ได้ การเดินร้อยในท่อก็มีส่วนช่วยป้องกันฉนวนของสายจากแสงแดดได้ในระดับหนึ่ง 
3. เลือกใช้ชนิดของสายไฟให้เหมาะสมกับสภาพการติดตั้งใช้งานเช่น สายไฟชนิดอ่อน ห้ามนำไปใช้เดินยึดกับผนังหรือลากผ่านบริเวณที่มีการกดทับสาย เนื่องจากฉนวนของสายไม่สามารถรับแรงกดจากอุปกรณ์ยึดจับสายได้ การเดินสายใต้ดินก็ต้องใช้ชนิดที่เป็นสายใต้ดิน เช่น สาย NYY พร้อมทั้งมีการเดินร้อยในท่อเพื่อป้องกันฉนวนของสายไฟไม่ให้เกิดความเสียหาย เป็นต้น
4. ขนาดแรงดันของสายไฟฟ้า ต้องเลือกให้เหมาะสมกับแรงดันไฟฟ้าและปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้งาน และสอดคล้องกับขนาดของฟิวส์หรือสวิตซ์อัตโนมัติ (เบรกเกอร์) ที่ใช้ สำหรับขนาดสายเมนและสายต่อหลักดินนั้นก็ต้องสอดคล้องกับขนาดของเมนสวิตซ์และ ขนาดของเครื่องวัดด้วย 

 

 

ขนาดแรงดันไฟฟ้าและขนาดตัวนำ ที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทยมีขนาดเท่าใด 
ปัจจุบันบริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จ เป็นผู้ผลิตรายเดียวในประเทศไทยที่สามารถผลิตสายไฟที่มีขนาดแรงดันไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 245 kV และผลิตสายไฟที่มีขนาดตัวนำได้ใหญ่สูงสุดถึง 2500 mm2  ซึ่งถือเป็นขนาดแรงดันและขนาดตัวนำที่สูงที่สุดที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทยแล้ว

 

 

 

ทำไมจึงไม่นิยมใช้สายตัวนำอะลูมิเนียมในบ้านหรืออาคาร?
เพราะสายอะลูมิเนียมจะต้องใช้สายเบอร์ใหญ่กว่าทองแดง ในระดับการรับกระแสที่เท่ากัน เช่น  สายอลูมิเนียมเบอร์ 16  จะมีความสามารถนำไฟฟ้าได้ดีเท่าสายทองแดงเบอร์ 10 ซึ่งในการเดินสายภายในอาคารบางครั้งจะติดปัญหาถ้าต้องใช้สายไฟที่มีขนาดใหญ่ เพราะจะทำให้เดินสายลำบากและดูไม่สวยงามอีกด้วย นอกจากนี้สายทองแดงก็สามารถดัด โค้ง งอ ได้ดีกว่าอะลูมิเนียม  จึงนิยมใช้สายทองแดงมาทำสายภายในอาคารมากกว่าสายตัวนำที่ทำจากอะลูมิเนียม ถึงแม้ว่าสายอะลูมิเนียมจะมีน้ำหนักเบาและราคาถูกกว่าก็ตาม 

 

 

ชื่อเรียกสายไฟฟ้าที่ช่างไฟนิยมใช้มีอะไรบ้าง 
สายตีกิ๊ฟ หรือ สายแบน หมายถึง สายไฟ VAF
สายเดี่ยว หรือ สายกลม หมายถึง สายไฟ THW
สายฝังดิน หมายถึง สายไฟ NYY
สายอ่อน สายฝอย หมายถึง สายไฟ VCT
สายคอนโทรล หมายถึง สายไฟ VSF และ CVV

 

 

สายไฟอ่อนต่างกับสายไฟแข็งอย่างไร? 
สายอ่อน ตามท้องตลาดส่วนมากหมายถึงสายชนิด VCT (สายไฟมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก. 11-2531) เป็นสายไฟแรงดันต่ำ ที่ทนแรงดันได้ไม่เกิน 750 โวลต์ ที่อุณหภูมิไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส ซึ่งมีหลายแบบทั้งแบบสายเดี่ยว, 2 แกน, 3 แกน และ 4 แกน คุณสมบัติคือ แกนในเป็นเกลียวทองแดงฝอยเล็ก มีฉนวนสามชั้น อ่อนตัวโค้งงอได้ดี เหมาะสำหรับงานที่มีการรื้อ-ถอน เคลื่อนย้ายสายไฟบ่อยๆ เช่น งานแบบติดตั้งชั่วคราว งานภาคสนามบนพื้นราบ หรือไม่สูงจากพื้นมากนัก

สายแข็ง ส่วนมากจะนิยมใช้เรียกสาย 60227 IEC01 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไป THW ซึ่งเป็นชื่อตามมาตรฐานอเมริกา (สายไฟมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก. 11 - 2531) เป็นสายไฟที่ใช้ในงานประเภทแรงดันต่ำเช่นกัน แรงดันได้ไม่เกิน 750 โวลท์ ทนอุณหภูมิได้ 70 องศาเซลเซียส ตัวนำเป็นทองแดงเส้นใหญ่และฉนวนชั้นเดียวเป็นแบบ PVC ซึ่งทำให้สายค่อนข้างแข็ง ไม่เหมาะกับการโค้งงอบ่อย ไม่ทนต่อการลากสายและขูดขีดบ่อย เพราะจะทำให้ฉนวนชำรุดได้ เหมาะสำหรับการเดินสายในสถานที่แห้ง ไม่เปียกชื้นหรือในท่อ เช่น ตามโรงงาน ห้ามเดินฝังดินโดยตรง

 

 

สายส่งกำลังไฟฟ้าแรงสูง 
สายไฟฟ้าแรงสูงส่วนใหญ่ที่ใช้ส่งกระแสไฟฟ้าไปตามถนนหรือทุ่งนานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสายตัวนำอะลูมิเนียมที่ไม่มีฉนวนหุ้ม หรือหากมีฉนวนหุ้ม ก็จะหุ้มบางๆ ไว้เท่านั้น เพราะอะลูมิเนียมมีน้ำหนักเบา และราคาถูกกว่าทองแดง เหมาะกับการเดินสายไฟระยะไกลบนเสาไฟฟ้ามากกว่าสายตัวนำทองแดงซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า สายไฟฟ้าแรงสูงที่ไม่มีฉนวนหุ้มหรือหุ้มไว้บางๆนี้ ไม่ปลอดภัยและไม่ควรเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟฟ้าแรงสูงชนิดนี้อยู่

 

 

 

ลักษณะของสายไฟแต่ละชนิด

  • สายไฟที่ใช้ติดตามอาคาร (สายมอก. : Building Wire) เป็นสายไฟที่มีตัวนำทองแดง ฉนวนเป็น PVC แรงดันที่ใช้งานไม่เกิน 450/750V อุณหภูมิใช้งานที่ 70 ํC เช่น สาย60226 สายไฟ IEC01 (THW),VCT ,VAF, NYY

  • 60227 IEC 01 (THW) เป็นสายไฟฟ้าที่รับแรงดันไฟฟ้าได้ 450/750V ฉนวนทำจาก PVC ตัวนำทองแดง เป็นสายนิยมใช้อย่างกว้างขวางสำหรับการเดินสายภายในอาคาร วิธีการติดตั้งและการใช้งาน ใช้เดินบนรางwire-way เดินร้อยท่อเดินใต้ฝ้าอาคาร หรือร้อยท่อฝังผนังคอนกรีต

  •  

  • VCT เป็นสายไฟฟ้าที่รับแรงดันไฟฟ้าได้ 450/750V ฉนวนและเปลือกทำจาก PVC ตัวนำทำจากทองแดงฝอยเส้นเล็กๆมัดรวมกันเป็นแกน มีทั้งแบบ 1 แกน 2 แกน 3 แกน และ 4 แกน ข้อดีของตัวนำทองแดงที่เป็นเส้นฝอยคือมีความอ่อนตัวและทนต่อสภาพการสั่นสะเทือนได้ดี นอกจากนี้ยังมีสาย VCT-G เป็นสายVCT ที่มีสายดินเดินรวมไปด้วยอีกเส้นหนึ่ง เพื่อให้เหมาะกับการใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องต่อลงดิน การใช้งานเดินบนรางเคเบิล ร้อยท่อฝังดิน หรือฝังดินโดยตรงก็ได้

  •  

  • สายไฟ NYY เป็นสายไฟที่รับแรงดันไฟฟ้าได้ 450/750V เช่นเดียวกับสาย VCT ต่างกันตรงที่โครงสร้างของสายไฟ คือสาย NYY จะมีเปลือกสองชั้น คือ เปลือกชั้นในและเปลือกชั้นนอก แต่สาย VCT มีเปลือกชั้นเดียว ทำให้สาย NYY มีความแข็งแรง คงทนต่อสภาพแวดล้อมมากกว่าสาย VCT มีตั้งแต่ 1 แกน ถึง 4 แกน และยังมี NYY-G ที่มีสายดินเดินรวมไปด้วย การใช้งานสามารถฝังดินโดยตรงได้ เดินลอยในอากาศ ร้อยท่อฝังดิน ร้อยท่อฝังผนังคอนกรีต ร้อยท่อเดินใต้ฝ้าอาคาร เดินบนรางเคเบิล

  •  

เดินในช่องเดินสายwire-way

  • 60227 IEC 10 เป็นสายไฟฟ้าที่มีลักษณะโครงสร้างเหมือนสาย NYY มาก ทำให้ผู้ใช้มักสับสนอยู่บ่อยๆ ความแตกต่างระหว่างสายไฟสองชนิดนี้คือ สาย60227 IEC 10 มีเปลือกที่บางกว่า และทนแรงไฟฟ้าได้เพียง 300/500V และไม่สามารถเดินสายฝังดินได้ การใช้งานสามารถเดินลอยในอากาศ ร้อยท่อฝังผนังคอนกรีต ร้อยท่อเดินใต้ฝ้าอาคาร เดินเกาะผนัง เดินบนรางเคเบิล เดินในช่องเดินสายwire-way

  •  

  • VAF เป็นสายไฟฟ้าที่รับแรงดันได้ 300/500V ตัวนำเป็นทองแดง ฉนวนและเปลือกทำจาก PVC นิยมใช้เดินตามฝาผนังแล้วรัดด้วยเข็มขัดรัดสาย (clip : กิ้บ) หรือเดินในช่องเดินสาย แต่ห้ามร้อยท่อและห้ามเดินฝังดิน นอกจากนี้ยังมีสาย VAF-G ที่มีสายดินเดินรวมไปด้วยอีกเส้นหนึ่ง

  •  

  • สายไฟฟ้าแรงดันต่ำ (Low voltage power cable) รับแรงดันไฟฟ้าได้ไม่เกิน 3.6kV ส่วนใหญ่จะมีฉนวนเป็น Cross-linked polyethylene (XLPE) ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทานกว่าฉนวนPVC และยังทนความร้อนได้สูงถึง 90 ํC บางชนิดอาจมีการเสริมโครงสร้างโลหะเพื่อรับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นจากการติดตั้งได้มากขึ้น เช่น สายCV, สายCV-AWA, สายCV-SWA เป็นต้น

  • 0.6/1 kV XLPE/PVC (สายไฟCV) รับแรงดันได้ 600/1000V ฉนวนทำจากCross-linked polyethylene (XLPE)

เปลือกนอกเป็นPVC ตัวนำเป็นทองแดง มีตั้งแต่ชนิดตัวนำแกนเดี่ยว จนถึง ตัวนำสี่แกน การใช้งานสามารถฝังดินโดยตรง 
ร้อยท่อฝังดิน ร้อยท่อฝังผนังคอนกรีต ร้อยท่อเดินใต้ฝ้าอาคาร เดินเกาะผนัง เดินบนฉนวนลูกถ้วย และ เดินในช่องเดินสายชนิดwire-way ที่ปิดมิดชิด

 

  • 0.6/1 kV XLPE/PVC/AWA (สายCV-AWA) และ 0.6/1 kV XLPE/PVC/SWA (สายCV-SWA) รับแรงดันได้ 600/1000V ฉนวนเปลือก ตัวนำและการใช้งานเหมือนสายCV แต่มีการเสริมโครงสร้างลวดอะลูมิเนียมและลวดเหล็กตามลำดับ เรียกโครงสร้างชั้นนี้ว่า Metallic Shield โดย Metallic Shield นี้จะช่วยสลายประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นบนผิวฉนวนไม่ให้แพร่ไปยังโครงสร้างชั้นอื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งาน

  •  

  • สายไฟฟ้าควบคุม (Control Cable) สายไฟฟ้าแรงดันต่ำตามมาตรฐาน ที่ใช้งานในด้านการควบคุมของระบบขนาดแรงดัน 600V เช่น สายCVV, สายCVV-S, สายCVV-SWA เป็นต้น

  •  

  • 600V CVV รับแรงดันได้ 600V ฉนวนและเปลือกทำจาก PVC อุณหภูมิใช้งานที่ 70 ํC และยังมีโครงสร้าง

  •  

  • สายไฟฟ้าแรงดันปานกลาง (Medium voltage power cable) รับแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 3.6kV ถึง 36kV มีทั้งตัวนำอะลูมิเนียมและตัวนำทองแดง มีโครงสร้างหลายแบบขึ้นอยู่กับลักษณะการนำไปใช้งาน เช่น สายSAC, สายPIC, สายMXLP-DATA, สายMXLP-AWA, สายMXLP-LS-SWA

  • สายSAC ตัวนำอะลูมิเนียม ฉนวนและเปลือกCross-linked polyethylene (XLPE) เป็นสายไฟที่มีน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับการเดินสายไฟบนเสาไฟฟ้า รับแรงดันได้ 3 ขนาด คือ 15kV 25kV และ 35kV

  •  

  • สายMXLP-DATA คือสายไฟฟ้าแรงดันขนาดกลางที่มีโครงสร้างเสริมคือ Double Aluminium Tape Armour เพื่อช่วยรับแรงกระแทกและป้องกันความเสียหายของฉนวนที่จะเกิดขึ้นขณะติดตั้งและใช้งานสายไฟ โครงสร้างของสายจะประกอบด้วย

ตัวนำทองแดง ฉนวนCross-linked polyethylene (XLPE) เปลือกทำจาก PE (Polyethylene : PE)

  • สายMXLP-AWA คือสายไฟฟ้าแรงดันขนาดกลางที่มีโครงสร้างเสริมคือ Aluminium Wire Armour

ตัวนำทองแดง ฉนวนCross-linked polyethylene (XLPE) เปลือกทำจาก Black PE (PE : Polyethylene)

  • สายMXLP-LS-SWA คือสายไฟฟ้าแรงดันขนาดกลางที่มีโครงสร้างเสริมคือ Lead Sheath และ Steel Wire Armour

ตัวนำทองแดง ฉนวนCross-linked polyethylene (XLPE) เปลือกทำจาก Black PE (PE : Polyethylene)
ข้อดีของ Lead Sheath คือ สามารถป้องกันการซึมของน้ำ ทนต่อการกัดกร่อยของไอน้ำมันและสารเคมีบางชนิดได้อย่างดี นิยมใช้สายประเภทนี้ในการเดินสายไฟใต้ดินและงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (Oil&Gas)

 

  • สายไฟฟ้าแรงดันสูง (High voltage power cable) รับแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 36kV ถึง 170kV ตัวนำทองแดง มีโครงสร้างหลายแบบขึ้นอยู่กับลักษณะการนำไปใช้งาน เช่น

  •  

  • 69 kV Cu/XLPE/CWS/LAT/PE  สายไฟแรงดันสูงที่รับแรงดันได้สูงสุด 69kV ตัวนำทองแดง ฉนวนXLPE เสริมโครงสร้าง Copper wire shield เพื่อสลายประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นบนผิวฉนวนไม่ให้แผ่ไปยังโครงสร้างชั้นอื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งาน และ Laminated Aluminium tape เพื่อป้องกันการซึมของน้ำ เปลือกเป็น PE ซึ่งทำเป็นลักษณะของ Ribbed Oversheath ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานในขณะทำการลากสาย

  •  

  • 36/69(72.5) kV Cu/XLPE/LS/PE สายไฟที่รับแรงดันได้สูงสุด 72.5 kV ตัวนำทองแดง ฉนวนXLPE เสริมโครงสร้าง Lead Sheath ที่ช่วยป้องกันการซึมของน้ำ ทนต่อการกัดกร่อนของไอน้ำมันและสารเคมีได้ดี(นิยมใช้ในงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) เปลือกทำจาก PE

  •  

  • 127/230(245) kV Cu/XLPE/CCS/PE สายไฟที่รับแรงดันได้สูงสุด 245 kV ตัวนำทองแดง ฉนวนXLPE เสริมโครงสร้าง Corrugated copper sheath ที่ช่วยป้องกันการซึมของน้ำและช่วยรับแรงกระแทก ความพิเศษของ Corrugated sheath คือ มีความยิดหยุ่น ทำให้สามารถดัดโค้งสายไฟได้ง่ายขึ้น เปลือกทำจาก PEM

  • สายเปลือย (Bare Conductor) สายส่งไฟฟ้าแรงดันสูง เนื่องจากไม่มีฉนวนจึงสามารถรับแรงดันได้ไม่จำกัด นิยมใช้เป็นสายส่งกำลังในเขตนอกเมือง ที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เพราะสายไฟไม่มีฉนวนป้องกันกระแสไฟฟ้าซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคนที่อยู่ใกล้ๆได้ มีทั้งตัวนำอะลูมิเนียมและทองแดง แต่อะลูมิเนียมจะเป็นที่นิยมกว่าเพราะมีน้ำหนักเบาและราคาถูกกว่าตัวนำทองแดง เช่น

  • - สาย AAC (All Aluminium Conductor) ตัวนำเป็นอะลูมิเนียมททั้งสายตีเกลียวรวมกัน

  • - สาย ACSR (Aluminium Conductor Steel Reinforced) ตัวนำอะลูมิเนียม มีเหล็กตรงแกนกลาง เพื่อช่วยรับน้ำหนักเมื่อเดินสายระยะไกล

  • - สาย Bare Copper ตัวนำทองแดงทั้งเส้นตีเกลียวรวมกัน สามารถฝังดินโดยตรง หรือ เดินบนอากาศก็ได้
     

สายทนไฟ คืออะไร?
สายทนไฟ (Fire Resistant Cable) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่าสาย FRC เป็นสายไฟที่มีความสำคัญในปัจจุบันอย่างมาก เนื่องจากผู้ใช้เริ่มตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น สายทนไฟเป็นสายไฟชนิดพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้งานได้ในสภาวะที่กำลังเกิดเพลิงไหม้ คุณสมบัติพิเศษของสายทนไฟมีดังนี้

  • - Low smoke มีควันน้อย

  • - Zero Halogen ไม่เกิดก๊าซพิษ ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ

  • - Flame Retardant คุณสมบัติหน่วงไฟ คือ สามารถป้องกันการลามไฟ และสามารถดับไฟได้ด้วยตัวเองเมื่อไหม้ไปถึงระยะหนึ่ง

  • - Circuit Integrity คุณสมบัติทนไฟ คือ ในขณะสายไฟกำลังถูกไฟไหม้ ก็ยังสามารถจ่ายไฟได้ตามปกติในระยะหนึ่ง เพื่อให้อุปกรณ์ที่สำคัญบางอย่างสามารถทำงานอยู่ได้แม้อยู่ในสภาวะที่กำลังเกิดเพลิงไหม้ เช่น ระบบแสงสว่าง ระบบไฟฉุกเฉิน ลิฟท์ เป็นต้น โดยการพันเทปพิเศษที่เรียกว่า Mica Tape ที่ตัวนำ

สังเกตได้ว่าคุณสมบัติทั้งสี่อย่างของสายทนไฟ เป็นคุณสมบัติที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในขณะที่กำลังเกิดเพลิงไหม้ เพราะสาเหตุหลักที่ทำให้เราเสียชีวิตขณะเกิดเพลิงไหม้ คือ ควันไฟและก๊าซพิษ การใช้สายทนไฟจะช่วยลดควันไฟและก๊าซพิษที่เป็นอุปสรรคต่อการอพยพออกจากอาคารหรือตึกที่เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้ใช้สายทนไฟกับตึกที่สูงเกิน 23 เมตร และอาคารสาธารณะต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน สนามบิน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น 


สายทนไฟมีกี่ประเภท?
สายทนไฟสามารถแบ่งหลักๆตามโครงสร้างได้ 3 ประเภท ดังนี้  

  • - สายทนไฟ (Fire Resistant Cable : FRC)

  • - สายหน่วงไฟ (Low Smoke Zero Halogen Flame Retardant Cable : LSOH FD) คือสายไฟที่มีลักษณะและคุณสมบัติเหมือนกับสาย FRC ทุกประการ ยกเว้นตัวนำไม่ได้ถูกพันด้วย Mica Tape เหมือนสาย FRC จึงไม่มีคุณสมบัติทนไฟ (Circuit Integrity)

  • - สายCV-FD คือ สายCV ที่ถูกพัฒนาให้มีคุณบัติพิเศษ Flame Retardant ขึ้นมา ทำให้สายไฟสามารถป้องกันการลามไฟ และดับได้ด้วยตัวเองเมื่อไหม้ไปถึงระยะหนึ่ง

 


 

VCV คือ อะไร?
Vertical Continuous Vulcanization : VCV คือสุดยอดเทคโนโลยีการหุ้มฉนวนในแนวดิ่ง ถูกออกแบบมาเพื่อใช้หุ้มฉนวน XLPE สำหรับสายไฟฟ้าแรงดันสูงโดยเฉพาะ เนื่องจากฉนวนของสายไฟฟ้าแรงดันสูงมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก จึงทำให้ยากต่อการหุ้มฉนวน อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะน้ำหนักของฉนวนจะหย่อนคล้อยตามแรงโน้มถ่วงของโลก  การหุ้มฉนวนด้วยเทคโนโลยี VCV จะทำให้ฉนวนของสายไฟอยู่ตรงศูนย์กลาง ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง และตัดปัญหาเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลกออกไปด้วย VCV ถือเป็นสุดยอดเทคโนโลยีการหุ้มฉนวนที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ในกลุ่มผู้นำด้านการผลิตสายไฟฟ้าทั่วโลก 

บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายแรกและรายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia : SEA) ที่มีสุดยอดเทคโนโลยีการหุ้มฉนวนในแนวดิ่ง (VCV) สายไฟเฟ้ลปส์ ดอด์จจึงได้รับความไว้วางใจจากทุกกลุ่มภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ


Skinned Insulation คืออะไร?
Skinned Insulation คือ เทคโนโลยีการหุ้มฉนวนสองชั้นสำหรับหุ้มฉนวนสายไฟฟ้าแรงดันต่ำ โดยฉนวนชั้นในจะคงความบริสุทธิ์ของฉนวนไว้เพื่อรักษาคุณสมบัติความต้านทานไฟฟ้าของฉนวนไว้ และฉนวนชั้นนอกจะผสมสีเพื่อบอกเฟสของสายไฟ ข้อดีของเทคโนโลยี Skinned Insulation คือจะทำให้ฉนวนมีค่าความต้านทานไฟฟ้ามากกว่าฉนวนที่ผสมสีแบบปกติทั้งเส้น และบริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จเป็นผู้ผลิตรายแรกในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยี Skinned Insulation มาใช้ผลิตสายไฟฟ้าแรงดันต่ำ


Milliken Conductor คืออะไร?
Milliken Conductor (ตัวนำแบบมิลลิเก้น) เป็นเทคโนโลยีการตีเกลียวตัวนำ ที่นิยมใช้ในการผลิตสายไฟฟ้าแรงดันสูงที่มีขนาดตัวนำตั้งแต่ 1,000 ตารางมิลลิเมตร ขึ้นไป เพราะในขนาดตัวนำที่เท่ากัน ตัวนำแบบมิลลิเก้นจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า มีความยืดหยุ่นมากกว่า และสามารถรับกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าตัวนำตีเกลียวแบบปกติ ซึ่งในประเทศไทยมีเพียงบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่สามารถผลิตตัวนำแบบมิลลิเก้นได้

bottom of page